การปลูกพืชทั่วไป

การแบ่งพืชตามหลักการเกษตร

     การแบ่งพืชตามหลักการเกษตรทำได้หลายแบบแล้วแต่วัตถุประสงค์ของการแบ่ง เช่น การแบ่งโดยอาศัยความคล้ายคลึงกัน แบ่งตามปประเภทที่นำมาใช้ แบ่งตามขนาดและอายุของพืช เป็นต้น

     สำหรับการแบ่งประเภทของพืชโดยอาศัยการปฏิบัติบำรุงรักษาที่คล้ายคลึงกันจะเป็นพืชประเภทเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการผลิต จึงแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

1. พืชผัก (Vegetables)

     หมายถึง พืชผักที่ใช้ใบ ดอก ผล ราก หรือลำต้น เป็นอาหารหรือเครื่องปรุงแต่งรส พืชประเภทนี้มีทั้งอายุสั้นเพียงฤดูเดียว เช่น ผักกาด คะน้า กะหล่ำต่าง ๆ ผักกาดหัว และชนิดที่มีอายุมากกว่า 1 ปี เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริก ชะอม สะตอ เป็นต้น

2. ไม้ดอกไม้ประดับ (Floricculture and Ornamental Plants)

     หมายถึง พืชที่ปลูกแล้วสามารถให้ดอก ให้ใบใช้ประโยชน์ได้ หรือเป็นไม้ที่มีความสวยงามของทรงต้น ซึ่งใช้ตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม ตัวอย่างของไม้ดอก ได้แก่ กุหลาบ กล้วยไม้ เบญจมาศ หน้าวัว มะลิ ส่วนไม้ประดับ ได้แก่ เฟิน บอนสี โกสน ปาล์ม

3. พืชไร่ (Agronomy)

     หมายถึง พืชที่ใช้พื้นที่ปลูกมาก มีการปฏิบัติดูแลรักษาไม่พิถีพิถันมากนัก อายุการเก็บเกี่ยวไม่ยาวนาน ส่วนใหญ่เมื่อให้ผลผลิตแล้วมักจะตายลง พืชพวกนี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของมนุษย์มาก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ยาสูบ มันสำปะหลัง อ้อย ฝ้าย และถั่วต่าง ๆ

4. ไม้ผล (Pomology or Fruittrees)

     หมายถึง พืชที่มีอายุยืนนานหลายปีจึงจะให้ผลผลิต ซึ่งเรียกว่า "ไม้ผล" พืชที่จัดเป็นไม้ผลได้แก่ ส้มต่าง ๆ เงาะ ทุเรียน ลำไย ชมพู่ ขนุน มะม่วง มังคุด

5. พืชอื่น ๆ 

     พืชอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้ พืชน้ำมัน พืชสมุนไพร และพืชอุตสาหกรรมอื่น ๆ 

เครื่องมือและอุปกรณ์ในการปลูกพืช

     การปลูกพืชให้ได้ผลผลิตสูง คุ้มค่ากับการลงทุนจำเป็นต้องปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการผลิต เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน และประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย

     เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกพืชแบ่งได้ ดังนี้

1. เครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมดิน

     เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบุกเบิก ถากถางปรับพื้นที่ ไถ พรวน ขุด เป็นต้น เครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมดินมีหลายประเภท หลายขนาด ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เช่น การใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ปรับพื้นที่ บุกเบิกพื้นที่การใช้รถไถขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไถพรวนพื้นที่ การใช้จอบ เสียม มีด สำหรับเตรียมแปลงขนาดเล็ก 

2. เครื่องมือเครื่องใช้ในการปลูกและการบำรุงรักษาพืช

     ได้แก่ เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องพ่นยาปราบศัตรูพืช เครื่องสูบน้ำ ส้อมพรวน บัวรดน้ำ ถังตักน้ำ เป็นต้น ซึ่งต้องเลือกชนิดและขนาดของเครื่องมือให้เมาะสมกับงาน

3. เครื่องมือเครื่องใช้ในการเก็บเกี่ยวพืช

     ได้แก่ เครื่องเก็บเกี่ยวพืช เครื่องนวดเมล็ดพืช เครื่องอบ เครื่องฝัด เคียว มีด กรรไกร แกระ

4. เครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ

     ซึ่งใช้ประกอบในการผลิตพืช เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา แรงงานและทุนทรัพย์ เช่น รถเข็น ยานพาหนะต่างๆ เครื่องมือซ่อมบำรุง โรงเก็บวัสดุอุปกรณ์และผลิตผล และเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ 

ปัจจัยที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

     การเจริญเติบโตของพืชจะเริ่มต้นจากการงอกของเมล็ด การเจริญเติบโตเป็นต้นพืช เมื่อมีอายุเหมาะสม ก็จะออกดอกให้ผล เมื่อเมล็ดแก่ก็นำไปเพาะไปขยายพันธุ์ต่อไป การเจริญเติบโตแต่ละขั้นตอนจะต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ มากน้อยแตกต่างกันออกไป รวมทั้งการที่ต้นพืชเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน จะทำให้ได้ขนาด คุณภาพ และปริมาณของผลผลิตแตดต่างกันออกไปด้วย ปัจจัยที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืชแบ่งได้ดังนี้

1.พันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยภายในต้นพืช พันธุกรรม หมายถึง ผลที่รับการถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ จากบรรพบุรุษไปยังลูกหลาน หากเป็นพันฑุ์แท้ ลูกหลายก็จะไม่แตกต่างกันออกไป เช่น มะม่วง ทุเรียน จะมีพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย และพันธุ์ต่าง ๆ นั้นมีโอกาสผสมพันธุ์ ก็อาจเกิดพันธุ์ใหม่ที่แตกต่างกันออกไปอีก ทั้งนี้เพราะได้รับการถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ มาจากบรรพบุรุษนั่นเอง

     การปลูกพืชนั้นมีเป้าหมายให้ได้ต้นพืชเจริญเติบโตแข็งแรง ให้ผลผลิตสูง และผลผลิตมีคุณภาพ จึงต้องเลือกปลูกเฉพาะพันธุ์พืชที่มีลักษณะดี ๆ และต้องระมัดระวังการกลายพันธุ์ของพืชด้วย เพราะต้นที่กลายพันธุ์ อาจมีลักษณะที่ไม่ดีจากบรรพบุรุษติดมาด้วย

2.สภาพแวดล้อมภายนอก เป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีพของพืช ดังนี้

อ้างอิงจาก

ศรีวรรณ เที่ยงตรง. (2558). งานเกษตร 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด.

https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/33764