พืชพลังงานแห่งชีวิต

ประโยชน์ของผัก

     ผักเป็นอาหารสำคัญของทุกครัวเรือน เพราะอาหารที่บริโภคในแต่ละวันจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเสมอ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ชนิดของอาหาร ทำให้มนุษย์มีพลังงานที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ อาหารพวกผักมีประโยชน์และคุณค่า ดังนี้

1. คุณค่าทางอาหารต่อร่างกาย เพราะผักให้สารอาหารได้หลายชนิด เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่และวิตามินต่าง ๆ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง

2. เป็นเครื่องชูรสอาหาร ช่วยแต่งรสอาหารให้ชวนรับประทานยิ่งขึ้น เช่น ผักชี ต้นหอม ทำให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน และยังรวมถึงการตกแต่งจานอาหารให้มีสีสันชวนชิมน่ารับประทานด้วย เช่น ใช้ผักสลัด มะเขือเทศ แครอต ตกแต่งจานอาหาร

3. มีสรรพคุณทางยา พืชหลายชนิดที่รับประทานกันอยู่ทุกวันนี้เป็นยารักษาโรคได้ด้วย เช่น หอมแก้หวัด กระเทียมแก้โรคความดัน สะระแหน่ ขิง ตะไคร้ แก้โรคท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นต้น ดังนั้น นอกจากผักจะทำให้อาหารชวนรับประทาน มีคุณ่าทางอาหารแล้ว ยังมีคุณค่าทางยารักษาโรคด้วย

การแบ่งประเภทของผักโดยอาศัยส่วนที่ใช้เป็นอาหาร แบ่งได้ดังนี้

1. ผักที่ใช้ใบและลำต้นเป็นอาหาร เช่น ผักบุ้ง ผักกาดเขียวปลี คะน้า กะหล่ำปลี โหรพา กระเมียม กะเพรา

2. ผักที่ใช้กาบใบเป็นอาหาร เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง

3. ผักที่ใช้ดอกเป็นอาหาร เช่น กะหล่ำดอก บรอกโคลี แค โสน

4. ผักที่ใช้ผลหรือฝักเป็นอาหาร เช่น พริก บวบ มะระ แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วแขก มะเขือ ฟักทอง แฟง

5. ผักที่ใช้หัวหรือรากเป็นอาหาร เช่น ผักกาดหัว กระชาย มันสัมปะหลัง มันเทศ มันฝรั่ง

ประเภทของการทำสวนผัก

     การทำสวนผักหรือการปลูกผักแบ่งได้ 4 ประเภท คือ

     1. การทำสวนผักเป็นอาชีพโดยตรง เป็นการปลูกเพื่อจำหน่ายตลอดทั้งปี โดยการหมุนเวียนชนิดของผักที่ปลูกตามฤดูกาลและตามความต้องการของตลาด การปลูกแบบนี้เป็นแบบประณีต คือใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ตลอดทั้งปี มีการดูแลการปฏิบัติต่าง ๆ ถูกต้อง เนื้อที่ปลูกผักมีตั้งแต่ขนาด 2 - 3 ไร่ จนถึง 50 ไร่ 100 ไร่ แหล่งปลูกผักลักษณะนี้ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะอยู่แถว ๆ ชานเมืองที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ส่วนแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศจะอยู่ใกล้ ๆ กรุงเทพมหานคร เช่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เขตภาษีเจริญ เขตตลิ่่งชัน กรุงเทพมหานคร

     2. การปลูกผักเป็นสาขาของอาชีพอื่น ๆ เช่น ชาวนาปลูกผักในนาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวไร่ปลูกผักบางชนิดตามที่ใกล้แหล่งน้ำ เป็นต้น ซึ่งหลายแห่งก็สามารถใช้พื้นที่ปลูกผักได้ตลอดทั้งปี มีผักไว้รับประทานในครอบครัว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี และมีรายได้จากการปลูกผักด้วย

     3. การปลูกผักเป็นงานอดิเรก เป็นการปลูกเพียงเล็กน้อยไว้บริโภคเองในครอบครัว ไม่ได้หวังผลทางการค้า ผู้ปลูกอาจเป็นเกษตรกร หรือผู้มีอาชีพอื่น ๆ อยู่แล้ว เช่น ข้าราชการ พ่อค้า พนักงาน ทำให้มีผักสดไว้บริโภคในครัวเรือน ประหยัดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญคือ เกิดความเพลิดเพลิน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่ดี เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

     4. การปลูกผักเพื่อการศึกษา ได้แก่ การปลูกผักในโรงเรียน วิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา จุดประสงค์หลักของการปลูกในลักษณะนี้ คือ เพื่อการศึกษาในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผัก เช่น ศึกษาการใช้ปุ๋ย ใช้ยา หรือปลูกเพื่อความรู้ ความชำนาญแก่ผู้ปลูกก่อนที่จะนำไปแนะนำส่งเสริมต่อ เป็นต้น

การปลูกและการปฏิบัติบำรุงรักษาพืชผัก

การเตรียมดินปลูก

     การเตรียมดินสำหรับปลูกพืชผัก ไม่ว่าจะปลูกในกระถางหรือปลูกลงดินก็ดี หลักการที่สำคัญนั้นก็คือ ดินที่นำมาปลูกต้องมีความร่วนซุย น้ำผ่านได้ดี น้ำไม่ขัง ต้องไม่เหนียว และดินมีความอุดมสมบูรณ์ พืชผักจึงจะเจริญเติบโตได้ดี

วิธีการเตรียมดินสำหรับการปลูกพืชผัก

1.การเตรียมการก่อนปลูกพืชผัก

     1) ก่อนอื่น ต้องพิจารณาดูเสียก่อนว่าพืชผักที่จะนำมาปลูกชอบดินลักษณะใด เมื่อเลือกต้นไม้ที่ชอบสภาพและลักษณะดินได้แล้ว ก็จะต้องเตรียมดินปลูกในหลุมนั้น โดยการขุดหลุมเล็กหรือใหญ่ตามขนาดของต้นไม้ ควรขุดหลุมกว้างหรือลึกเท่ากับความยาวของรากแก้ว เมื่อขุดดินแล้วก็ตากดินนั้นไว้ที่ปากหลุม ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อกำจัดวัชพืชออกไป

     2) เมื่อตากดินไว้ 1 สัปดาห์แล้ว ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน ปูนขาว 1 ส่วน ผสมกับดินให้เข้ากัน แล้วนำใส่ก้นหลุม นำต้นไม้ที่เตรียมไว้ปลูกวางลงบนดินที่ผสมไว้ และปักหลักผูกกับต้นไม้ไว้ไม่ให้ล้ม  

     3) เอาดินที่ขุดตากไว้ใส่ลงในหลุมดิน พลิกดินโดยเอาดินที่เป็นส่วนตอนบนใส่ลงไปข้างล่าง เอาดินส่วนล่างก้นหลุมกลบไว้ข้างบน กดให้แน่น เพื่อไม่ให้ต้นไม้เอนไปมา หาวัตถุพวกหญ้าแห้ง แกลบ ฟาง คลุมดินไว้ เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

     4) ควรจะปลูกในตอนเย็น และถ้าต้นไม้นั้น เป็นต้นไม้ที่ถอนกล้า หรือเป็นต้นเล็กมาปลูก ต้องทำที่กำบังแดดจนกว่าต้นไม้จะทรงตัวได้

2. การปลูกพืชผักในแปลง 

     1) ก่อนปลูก ต้องทำแปลงขนาดกว้างยาวตามพื้นที่ แต่ความกว้างไม่ควรเกิน 1 เมตร ถ้าแปลงกว้างไปจะทำให้ดูแลรักษายาก ให้ทำการขุดดินตามขนาดที่กำหนดไว้ และเก็บวัชพืชที่อยู่ในดินออกให้หมด ตากดินให้แห้ง ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วทำการย่อยดินให้เป็นก้อนเล็กๆ ผสมดินด้วยปุ๋ยคอก ปูนขาว และปุ๋ยอินทรีย์ อย่างละ 1 ส่วน เมื่อผสมได้แล้ว ให้ทำเป็นรูปแปลง เตรียมที่จะปลูกพืชผักต่อไป

     2) ก่อนที่จะปลูก ต้องดูว่าต้นไม้ที่จะนำมาปลูกนั้น จะปลูกเป็นแถวติดกัน หรือห่างกัน ถ้าห่าง ก็ขุดดินเป็นหลุมเล็กๆ ไว้ตามระยะที่พอเหมาะ ถ้าจะปลูกเป็นแถว ให้ทำดินให้เป็นรางติดต่อกันไป

     3) การถอนกล้ามาปลูก ควรทำในตอนเย็น และควรขุดให้มีดินติดมาด้วย อย่าให้รากขาด ถ้ารากขาดจะทำให้ต้นไม้โตช้า นำต้นกล้ามาปลูกลงในร่อง หรือหลุมนั้น เมื่อตั้งต้นกล้าลงในหลุมได้ที่แล้ว ก็เอาดินกลบกดดินให้แน่น เพื่อให้รากเกาะกับดิน ให้คลุมดินด้วยหญ้าหรือฟาง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม และทำร่มเงาแก่ต้นกล้า จนกว่าต้นจะทรงตัวได้

3. การปลูกต้นไม้ลงกระถาง 

     1) ก่อนที่จะปลูกต้นไม้ลงในกระถาง จะต้องเลือกกระถางให้มีขนาดพอเหมาะกับต้นไม้ เมื่อได้กระถางมาแล้ว ให้หากระเบื้องแตกปิดรูก้นกระถาง ทุบอิฐมอญเป็นก้อนเล็กๆ ใส่ลงก้นกระถาง สูงประมาณ 1 นิ้ว เพื่อช่วยในการระบายน้ำได้ดีขึ้น

     2) ผสมดินสำหรับปลูก ดินร่วน 1 ส่วน ใบไม้ผุ 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน เอาดินที่ผสมแล้ว ใส่ลงไปประมาณครึ่งกระถาง เอาต้นไม้วางลง แล้วเอาดินที่ผสมไว้ใส่ลงเกือบเต็มกระถาง กดดินให้แน่น เพื่อไม่ให้ต้นไม้ล้ม รดน้ำให้ชุ่ม แล้ววางในที่ร่ม หรือพักไว้ในเรือนต้นไม้จนกว่าต้นไม้จะทรงตัว แล้วจึงนำออกไปวางเป็นไม้ประดับได้


การปลูก

     วิธีการปลูกพืชผัก พืชผักมีหลายชนิด วิธีการปลูกจึงต้องเลือกให้เหมาะสม พืชผักแต่ละชนิดมีส่วนซึ่งนำไปขยายพันธุ์เมื่อปลูกได้แตกต่างกัน ซึ่งพอจะแบ่งวิธีปลูกได้เป็น 3 วิธี คือ  

1. การปลูกพืชผักสวนครัวด้วยเมล็ดโดยตรง 

     เป็นวิธีที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในที่ที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำและศัตรูพืชมากนัก วิธีนี้มีข้อดี สามารถทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมธรรมชาติตั้งแต่เริ่มงอก ทำให้การเจริญเติบโตไม่ต้องหยุดชะงักเหมือนการย้ายปลูกและเปลืองแรงงานน้อยกว่า การปลูกด้วยเมล็ดมีด้วยกัน 3 วิธี คือ

          1.1 การหว่านเมล็ด นิยมใช้กับพืชผักกินใบที่มีอายุสั้น โตเร็ว มีระยะปลูกถี่ หาเมล็ดได้ง่าย ราคาถูก เช่น ผักบุ้ง ผักกาดกวางตุ้ง ผักชี โดยจะนำเมล็ดห่อผ้าและแช่น้ำไว้หนึ่งคืน ก่อนที่จะทำการหว่าน

          1.2 การหว่านเมล็ดแล้วถอนแยก เป็นวิธีการที่นิยมมากในภาคกลาง พืชผักที่นิยมปลูกโดยวิธีนี้ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหอม ผักกาดหัว หลังจากหว่านเมล็ดแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะทำการถอนแยกต้นกล้าเพื่อจัด ระยะปลูกให้เหมาะสม

          1.3 การปลูกโดยการหยอดเป็นหลุม นิยมใช้กับพืชผักที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ซึ่งต้นกล้าแข็งแรงและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ถั่วต่างๆ แตงต่างๆ บวบ มะระ โดยเตรียมหลุมให้มีระยะปลูกที่เหมาะสม หลังจากงอกแล้วก็จะมีการ ถอนแยกให้เหลือจำนวนต้นตามที่ต้องการ

2. การปลูกพืชผักสวนครัวโดยวิธีการย้ายกล้า 

            กล้าผัก คือพืชต้นอ่อนที่มีใบจริง 2 – 3 ใบ หรือสูง 5 – 10 เซนติเมตร หรือมีอายุประมาณ 21–30 วัน ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของพืชผัก ซึ่งบางชนิดมีอายุมากกว่านี้ เช่น พริก มะเขือ หอมหัวใหญ่มีอายุ 45 วัน หน่อไม้ฝรั่งมีอายุ 4 – 6 เดือน ผักที่ควรเพาะกล้าย้ายปลูก คือผักที่มีเมล็ดขนาดเล็ก และทนต่อการกระทบกระเทือนจากการย้ายได้ดี เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี มะเขือ มะเขือเทศ พริก หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง

          2.1 แบบของการย้ายกล้า

              2.1.1 แบบรากเปลือย เป็นการย้ายปลูกโดยถอนกล้าออกจากแปลงเพาะหรือกระบะเพาะโดยไม่มีดินติดรากเลย หรือมีก็น้อยมาก ส่วนมากจะทำได้เฉพาะพืชผักตระกูลมะเขือ พริก ตระกูลกะหล่ำ และผักกาดต่างๆ เพราะพืชทั้ง 2 ตระกูลนี้ มีอัตราการเจริญของรากใหม่ค่อนข้างเร็ว ทำให้อัตราการตายน้อย

               2.1.2 แบบมีรากติดดิน ย้ายปลูกโดยถอนขุดจากแปลงเพาะหรือกระบะ ถุงพลาสติก กระถางขนาดเล็ก ให้ต้นกล้ามีดินติดรากมากที่สุด ส่วนกระทงกระดาษ ถ้วยกระดาษ แท่งเพาะชำ นั้นสามารถย้ายลง ในดินได้พร้อมกับกล้าเลย เพราะสามารถย่อยสลายในดินได้

          2.2 การย้ายกล้าผักไปปลูก

                กล้าที่ถอนแล้วเมื่อนำไปปลูกระยะใกล้ๆ ควรใส่ภาชนะที่เหมาะสม เช่น บุ้งกี๋ กระบะไม้ หรือพลาสติก ไม่ควรจะหอบหรือหิ้วจะทำให้ดินร่วงและกล้าช้ำ หากนำไปปลูกต่างถิ่นควรห่อโคนต้นกล้าด้วยใบตองหรือพลาสติกให้ใบโผล่ ห่อจำนวนน้อยๆเพื่อไม่ให้กล้าในห่อเน่าเพราะเบียดแน่นและมัดหลวมๆ (สมภพ ฐิตะวสันต์. 2537 :168)

          2.3 การปฏิบัติต่อกล้าหลังจากย้ายปลูกในแปลง หลังจากย้ายกล้าลงในแปลงแล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติทันทีได้แก่

               2.3.1 การให้น้ำ ควรให้สม่ำเสมอทั่วถึงและอย่างนุ่มนวล เพราะแรงน้ำสามารถกระแทกต้นกล้าให้หักพับและทำให้ดินกระเด็นมากลบทับต้นได้ น้ำจะช่วยให้รากกระชับติดกับดินทันที เพิ่มเปอร์เซ็นต์การรอดของต้นกล้า

               2.3.2 การให้ปุ๋ยละลายน้ำฉีดพ่น จะช่วยให้ต้นกล้าฟื้นตัวและกระตุ้น การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าให้ปุ๋ยรองพื้นแล้วไม่ควรให้ปุ๋ยละลายน้ำฉีดพ่นอีก

               2.3.3 การพรางแสงแดดให้ต้นกล้า ในบางครั้งถ้าย้ายกล้าในช่วงเวลา แดดจัดและร้อนมาก การพรางแสงแดดโดยใช้กระทงกระดาษครอบ หรือใช้ใบไม้ใหญ่หรือแผงฟางข้าวปิดบังด้านตะวันตกสำหรับป้องกันแดดตอนบ่ายจะช่วยให้เปอร์เซ็นต์การรอดของต้นกล้าสูงขึ้น ปกติควรพรางแสงเพียงระยะสั้นๆ เท่าที่จำเป็น ถ้าต้นกล้าเริ่มแข็งแรงดี ควรนำสิ่งพรางออก เพื่อให้ต้นผักได้รับแสงเต็มที่ต่อไป

               2.3.4 การคลุมดิน การคลุมดินด้วยฟางทันทีรอบๆต้นกล้าผัก จะช่วยรักษาความชื้นในดินและอุณหภูมิรอบๆกล้าผักให้สม่ำเสมอ อีกทั้งยังช่วยป้องกันลมและลดอัตราการคายน้ำของต้นกล้า ทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดตายของต้นกล้าสูงขึ้น

3. การปลูกพืชผักสวนครัวโดยอาศัยส่วนต่างๆของต้นพืช ต้นพืชประกอบด้วยส่วนต่างๆคือ ราก ลำต้น ใบ ซึ่งสามารถนำไปใช้ปลูกได้โดยอาศัยการขยายพันธุ์แบบต่างๆ เช่น การปักชำ การตอน การทาบกิ่ง การแบ่ง การแยกหน่อหรือการแยกกอ

สำหรับการปลูกพืชผักสวนครัวโดยอาศัยส่วนต่างๆของพืชนั้น สามารถปลูกโดยอาศัยส่วนต่างๆได้หลายวิธี ดังนี้

          การปลูกพืชผักสวนครัวโดยวิธีการแยก   หมายถึง การแยกส่วนของพืชออกตามรอยธรรมชาติแล้วนำไปปลูก เช่น หน่อกล้วย ตะไคร้ สับปะรด หอม กระเทียม

          การปลูกพืชผักสวนครัวโดยวิธีการแบ่ง  หมายถึง การตัดส่วนของพืชซึ่งไม่มีรอยแบ่งตามธรรมชาติออกเป็นส่วนๆโดยให้มีตาติด แล้วนำไปปลูก เช่น มันฝรั่ง เมื่อนำไปชำจะเกิดเป็นต้นใหม่ แล้วจึงนำไปปลูก

          การปลูกพืชผักสวนครัวโดยวิธีการปักชำ  หมายถึง การตัดกิ่ง ราก หรือใบ มาจากต้นแม่ แล้วนำมาชำไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้ออกรากหรือต้น เป็นการเพิ่มจำนวนต้นใหม่โดยที่ต้นใหม่เหล่านี้มีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกอย่าง การปักชำสามารถทำได้กับพืชผักสวนครัวหลายชนิด เช่น สะระแหน่ กะเพรา โหระพา ชะอม สลิด ฯลฯ


การปฏิบัติบำรุงรักษา

1. การให้น้ำ  เป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นสำหรับพืชผักอย่างมาก เพราะการที่พืชผักจะเจริญเติบโตได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับน้ำเป็นหลักด้วยเหมือนกัน เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญและยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในเรื่อง การสังเคราะห์แสง การลำเลียงสารอาหาร และช่วยปรับอุณหภูมิพืชผัก ดังนั้นการให้น้ำควรให้อย่างเหมาะสมกับพืชผักแต่ละชนิดและขึ้นอยู่กับอายุของพืชผักนั้น ๆ   อีกด้วย    ซึ่งส่วนใหญ่มักนิยมให้น้ำแบบเป็นฝอย อย่างการใช้บัวรดน้ำ การใช้สปริงเกอร์  หรือการใช้สายยาง เป็นต้น 

2. การใส่ปุ๋ย  ส่วนใหญ่ถ้าเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์  มักนิยมจะคลุกเคล้าผสมไปกับดินในตอนที่เริ่มเตรียมแปลงปลูก โดยจะใช้เป็นปุ๋ยคอก  ปุ๋ยหมัก หรือการใช้ปุ๋ยอินทรีย์  อย่างปุ๋ยพืชสด  แทนการใช้ปุ๋ยเคมีนั่นเอง เพราะจุดประสงค์ในการปลูกผักนั้น ก็เพื่อต้องการให้พืชผักที่รับประทานเข้าไปมีความปลอดภัยมากที่สุด นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยแบบธรรมชาติยังช่วยปรับดินให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและที่สำคัญช่วยทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดี   อีกทั้งยังทำให้มีผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาดอีกด้วย 

3. การพรวนดิน เรียกได้ว่าเป็นการเตรียมดินให้พร้อมก่อนการปลูก เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปลูกพืชผัก  การพรวนดินให้ร่วนซุยมีส่วนช่วยทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดีและเป็นการช่วยกำจัดวัชพืชที่คอยแย่งอาหารพืชผักได้อีกทางหนึ่ง 

4. การตัดแต่ง แบ่งเป็นการตัดแต่งก่อนการปลูก ในระยะพืชผักเริ่มเจริญเติบโต และหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งผลลัพธ์ของแต่ละวิธีในการแต่งตัดนั้น ก็เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ  ทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดี และมีความสวยงามอีกด้วย

 การเก็บเกี่ยว